คู่มือมนุษย์ : เคล็ดลับการอยู่ในโลกโดยปราศจากทุกข์

ที่มารูปภาพ : http://www.oknation.net/blog/phra-dhamma/2013/05/30/entry-1

คู่มือมนุษย์ : เคล็ดลับการอยู่ในโลกโดยปราศจากทุกข์
เคยหรือไม่? เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า แล้วรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร วัน ๆ นอกจากกิน นอน ทำงาน เที่ยวเตร่ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง คุยกับเพื่อนกับแฟน ฯลฯ ซ้ำไปซ้ำมาแล้ว ชีวิตมีอะไรเป็นแก่นสารบ้าง สมมุติว่าเรามีเงินมากมายจนไม่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มีเกียรติยศชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือ มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี มีครอบครัวที่ดี เรียกว่ามีครบไปหมดซะทุกสิ่งที่ควรมีแล้ว คนๆนั้นยังจะมีความสุขโดยไม่มีทุกข์หรือไม่ ถ้ายังมีทุกข์อยู่อีก เช่นนั้น คนเราจะต้องมีแค่ไหนจึงจะเพียงพอ แค่ไหนจึงจะทำให้มีความสุข โดยไม่เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจขึ้นอีก ไม่ทุกข์เรื่องนั้น ก็ต้องมาทุกข์เรื่องนี้ หรือมนุษย์เราไม่มีทางหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ ชีวิตเช่นนี้ เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่าจะไปสิ้นสุดเช่นไร และอย่างไร เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยคิด คิดแล้วเคยหาคำตอบได้หรือเปล่า หรือเพียงคิด แล้วก็ผ่านเลยไป เพราะมีอะไรต้องทำ ต้องคิดอีกมากมาย และที่สุดแล้วชีวิตก็ยังวนเวียนซ้ำๆซากๆอยู่กับวงจรเดิมๆ เราจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ล่ะหรือ?
หลายๆคนเคยจะได้ยินชื่อเสียงของ “ ท่านพุทธทาสภิกขุ ” แห่งสวนโมกขพลาราม และบางคนก็อาจจะเคยอ่านหนังสือธรรมะที่ท่านเขียนขึ้นในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันแม้ท่านจะจากไปแล้วกว่า๑๐ ปี แต่ข้อคิด คำสอน และแนวปฏิบัติของท่านยังชัดเจนแจ่มแจ้งยืนหยัดเหนือกาลเวลา ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะเผยแผ่ความจริงแท้ของพุทธศาสนา สมดังชื่อของท่านที่หมายถึง ทาสของพระพุทธเจ้า คำสอนของท่านจะมุ่งตรงสู่แก่น สอนให้เราค้นหาความจริงด้วยตนเอง ละตัวกู ของกู เพื่อไปสู่ความเย็นแห่งนิพพาน ที่ท่านสอนว่าไม่ได้ไกลเกินเอื้อม เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือของท่านจะรู้สึกว่ายาก ทั้งๆที่หากเราศึกษาอย่างจริงจังและต้องการค้นพบหนทางแห่งความสุขที่แท้จริงแล้ว เราจะพบว่าแนวทางที่ท่านสอนนี้เป็นหนทางที่ตรงที่สุดแล้ว ไม่อ้อมค้อม ไม่แวะเวียนที่ไหน อย่างไรก็ดี เพื่อให้หลายๆคน โดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่า “ พุทธศาสนิกชน ” ได้ก้าวไปสู่การเรียนรู้พุทธศาสนาที่แท้จริงในขั้นแรก กอปรวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้จะเป็นวาระครบ ๑๐๐ ปีแห่งชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ พระอริยสงฆ์องค์หนี่งของไทย และเป็นผู้ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศเป็น “ บุคคคลสำคัญของโลก ” อีกท่านหนึ่ง ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงอยากจะขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ คู่มือมนุษย์ ” ของท่านพุทธทาส ฉบับที่ คุณปุ่น จงประเสริฐ ผู้ก่อตั้งองค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาได้ย่นใจความ พร้อมตัดทอนและเปลี่ยนแปลงถ้อยคำจากคำวัดมาเป็นคำบ้าน เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านและผู้เริ่มอยากศึกษาพุทธศาสนาจริงจัง
คุณปุ่น จงประเสริฐ ได้กล่าวในคำชี้แจงว่า “ คู่มือมนุษย์ ” นี้นับเป็นหนังสือธรรมะที่ได้รับความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง และได้รับมีการนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ ท่านพุทธทาสได้บรรยายเรื่องอันสำคัญที่สุดที่มนุษย์ทุกคนควรจะรู้ และควรจะปฏิบัติตามให้ได้ จึงจะไม่เสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธศาสนา และว่าหากท่านผู้ใดไม่มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะเล่มอื่นๆ ก็ขอให้หาโอกาสอ่าน “ คู่มือมนุษย์ ” อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง ยิ่งได้อ่านเร็วเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของท่านเร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะ จะทำให้ได้รู้เคล็ดลับของการมีชีวิตอยู่ในโลกอย่างไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขใจ ไม่ว่าชาวโลกจะวุ่นวายไปอย่างไร เพราะหลักธรรมที่แสดงในหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้พบความเป็นอิสระทางใจอย่างแท้จริง ซึ่งท่านจะไม่เคยพบที่ใดมาก่อน ส่วนคุณวิโรจน์ ศิริอัฐ ประธานมูลนิธิเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ ได้พูดถึงหนังสือนี้ว่า “ …เดิมข้าพเจ้าเป็นอะไรก็บอกไม่ถูก แต่ก็เหมือนสัตว์เดรัจฉานอยู่ ๔ ประการคือ รู้จักแต่เรื่องกลัว กิน นอน เสพกาม และคิดแต่เรื่องทรัพย์สินเงินตราและอุปกรณ์ให้ได้สิ่งที่ดังกล่าวเท่านั้น แต่เมื่อข้าพเจ้าได้ศึกษาธรรมะ จึงทราบว่า ทรัพย์เป็นเพียงเครื่องนำมาซึ่งความปลื้มใจแบบชาวโลกเท่านั้น แต่ไม่ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์คือใคร มนุษย์คือ ผู้มีจิตใจสูง ชนิดที่กิเลส ตัณหา อุปทาน อันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ท่วมทับไม่ได้ เมื่อท่วมทับไม่ได้ เขาผู้มีใจสูงก็เป็นผู้ชนะทุกข์หรือปราศจากทุกข์โดยสิ้นเชิง ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้นั้นก็คือ ความไม่มีทุกข์โดยเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์นั่นเอง ….. ”
สำหรับเนื้อหาของหนังสือ “ คู่มือมนุษย์ ” ฉบับดังกล่าวจะมีอยู่ ๙ หัวเรื่อง ได้แก่ ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน /พุทธศาสนามุ่งชี้อะไรเป็นอะไร / ลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง(ไตรลักษณ์) /อำนาจของความยึดติด (อุปทาน) /ขั้นของการปฏิบัติศาสนา (ไตรสิกขา) / คนเราติดอะไร(เบญจขันธ์) /การทำให้รู้แจ้ง ตามวิธีธรรมชาติ /การทำให้รู้แจ้งตามหลักวิชา / ลำดับแห่งการหลุดพ้นจากโลก และสรุปความ
เมื่ออ่านไปแต่ละหัวเรื่อง จะทำให้เราค่อยๆเข้าใจในหลักธรรมทางพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น ได้เห็นความจริงอันแจ่มชัดขึ้น แม้จะยังไม่นำไปปฏิบัติ แต่ก็จะรู้สึกได้ว่าเราได้เรียนรู้มากขึ้น ท่านพุทธทาสกล่าวว่า พุทธศาสนาแปลว่า ศาสนาของผู้รู้ เพราะ พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ คือ รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น และว่ามีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา ว่า “ ถ้าน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำหรือสระศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน ” หรือ “ ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงบูชาอ้อนวอนเอาๆแล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น ” ท่านจึงว่า โดยเหตุที่คนยังมีความทุกข์แม้จะได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่หนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ดังนั้น คนเราจึงจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลออให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวว่า “ ศาสนา ” มีความหมายกว้างขวางกว่า “ ศีลธรรม ” เพราะศีลธรรม หมายถึง ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับประโยชน์สุขในขั้นพื้นฐานทั่วไป และมีตรงกันแทบทุกศาสนา แต่ศาสนา จะหมายถึงระเบียบปฏิบัติในขั้นสูง ผิดแปลกแตกต่างกันไปเฉพาะศาสนาหนึ่งๆ แม้ศีลธรรม ทำให้คนดี มีการปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ตามหลักสังคมทั่วไป แต่เมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้ว คนก็ยังไม่พ้นทุกข์อันมาจากความเกิด แก่ เจ็บและตาย และยังไม่พ้นทุกข์จากการเบียดเบียนของกิเลส อันได้แก่โลภะ โทสะและโมหะแต่ขอบเขตของพุทธศาสนาจะไปไกลกว่าและมุ่งหมายโดยตรงที่จะกำจัดกิเลสดังกล่าว ซึ่งศีลธรรมจะทำได้ไม่ถึง
ส่วน ไตรลักษณ์ ก็เป็นหลักสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องรู้ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านว่าถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้จักพุทธศาสนา เพราะเป็นการประกาศความจริงที่ว่า “ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ” กล่าวคือ ที่ว่าเป็นอนิจจัง คือ สิ่งทั้งปวงเปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่มีอะไรเป็นตัวเองที่หยุดอยู่แม้ชั่วขณะ ที่ว่าเป็นทุกขัง คือ สิ่งทั้งปวงมีลักษณะเป็นความทุกข์ทรมานอยู่ในตัวมันเอง มีลักษณะดูแล้วน่าชัง น่าเบื่อ น่าระอาทั้งนั้น ที่ว่าเป็นอนัตตา เป็นการบอกให้รู้ว่า บรรดาสิ่งทั้งปวงไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดถือด้วยจิตใจว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ถ้าไปยึดถือก็ต้องเป็นทุกข์ ท่านว่าลักษณะสามัญนี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากกว่าคำสอนอื่นๆ และว่าความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลายนี้ มีสอนกันมาก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ขยายความลึกซึ้งเหมือนพระพุทธองค์ เรื่องทุกข์ก็เช่นกัน ไม่ลึกซึ้งถึงที่สุด ไม่ประกอบด้วยเหตุผล และไม่สามารถชี้ถึงวิธีดับทุกข์ที่สมบูรณ์จริงๆได้ เพราะยังไม่รู้จักทุกข์อย่างเพียงพอเท่ากับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
คำว่า “ วัฏฏสงสาร ” ท่านก็ว่ามิใช่เพียงชาติโน้น ชาตินี้ ชาตินั้นอย่างเดียว แต่หมายถึงการวนเวียนของสามสิ่งคือ ความอยาก-การกระทำตามความอยาก-ผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มาจากการกระทำนั้น-แล้วไม่สามารถหยุดความอยากได้ เลยต้องอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป-แล้วกระทำอีก-ได้ผลมาอีก-เลยส่งเสริมความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปอีก เป็นวงกลมไม่สิ้นสุด นี่แหละเรียก “ วัฏฏสงสาร ” และว่าคนเราต้องทนทุกข์ทรมานก็เพราะติดอยู่ในวงกลมนี้เอง ถ้าหากใครหลุดพ้นไปได้ ก็เป็นอันว่าพ้นจากความทุกข์ทุกอย่างแน่นอน (นิพพาน)
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน แต่ก็เชื่อว่าเพียงแค่นี้ ก็คงทำให้เราได้เห็นหนทางสว่างแห่งชีวิตบ้างแล้ว ท่านพุทธทาสได้เขียนไว้ในท้ายคำอนุโมทนาว่า “ …..ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังอย่างยิ่งไว้ในที่นี้ด้วยว่า หนังสือเล่มนี้จักเป็นบันไดขั้นต้นหรือเป็นหนังสือเล่มแรก ที่ถ้าศึกษาให้ละเอียดลออแล้ว จะสะดวกแก่การศึกษาธรรรมะในขั้นสูงเรื่องอื่นๆที่ข้าพเจ้าเคยแสดงไว้ในที่ต่างๆสืบไปโดยแน่นอน ”
หากท่านคิดว่า “ ชีวิต ” ของท่านดีแล้ว มีความสุขแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องอ่าน “ คู่มือมนุษย์ ” แต่หากท่านเกิดความสงสัยว่า เกิดมาทำไม คนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และชีวิตมีค่ามีความหมายที่ตรงไหนแล้วละก้อ หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบท่านได้
ของกู-ของสู
อันความจริง “ ของกู ” มิได้มี แต่พอเผลอ “ ของกู ” ขึ้นจนได้,
พอหายเผลอ “ ของกู ” ก็หายไป หมด “ ของกู ” เสียได้ เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่ง “ ของกู ” และถอนทั้ง “ ของสู ” อย่างเต็มที่
ของเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ทุกนาที เพราะไม่มี ของใคร ที่ไหนเอย ฯ